หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เส้นทางสู่นักอักษร



เส้นทางสู่นักอักษร
อาชีพนักเขียน
   นักเขียนเป็นอาชีพทางด้านศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องใช้จินตนาการในการสร้างเรื่องราวหรือบทความขึ้นมาเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะชนและจะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อแสดงแนวคิดหรือภาพพจน์ขึ้นมา โดยอาจสร้างได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น บทกวี ร้อยกรอง ร้อยแก้ว เรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร สารคดี เป็นต้น


  คุณสมบัติของนักเขียน
1.มีใจรักในงานเขียนและรักในอาชีพ ทำให้รักในการทำงาน
2.เป็นนักอ่าน เพราะการอ่านจะช่วยให้เขียนได้ดี
3.มีวินัย มีความสม่ำเสมอ มีสมาธิดี ควบคุมตนเองได้ดี
4.มีประสบการณ์ในชีวิตพอสมควร
5.ความสามารถในการใช้ถ้อยคำภาษาได้ดี
6.เป็นคนทุ่มเท ขยัน เขียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ท้อแท้ ไม่เลิกกลางคัน มีความอดทน
7.ฝึกฝน พัฒนา แก้ไข ปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา ฝึกเขียนอย่างสม่ำเสมอ
8.เป็นทั้งนักจำและนักจด คือต้องมีความจำดีแต่ก็ควรจดในสิ่งที่ต้องใช้ในงานเขียน
9.เป็นตัวของตัวเอง ไม่เลียนแบบใคร เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเขียน
10.มีใจกว้าง ยอมรับคำวิจารณ์ของผู้อื่น เพื่อแก้ไขปรับปรุงผลงาน
11.มีความรู้จริงในเรื่องที่เขียน หมั่นศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา
12.มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบต่อยอดสิ่งต่างๆสามารถเชื่อมโยงความรู้จากแหล่งต่างๆ ได้ดี



ความยากลำบากของนักเขียน
   นักเขียนมีข้อจำกัดคือ ส่วนใหญ่รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ หากไม่เป็นที่นิยมจริงๆ และจะต้องทำงานก่อนเป็นเวลานานกว่าจะได้เงิน บางสำนักพิมพ์จะจ่ายเงินเมื่อหนังสือขายได้ในรอบ 6 เดือน โดยนักเขียนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ เพราะการที่จะพิมพ์หนังสือเองค่อนข้างยาก
   รายได้ส่วนใหญ่ของนักเขียนจะมาจากค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 5% 7% 10% ของราคาหน้าปกหนังสือ ซึ่งรายได้จะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับว่าหนังสือขายดีแค่ไหน ถ้าหนังสือขายดีนานก็จะมีรายได้มากและนาน บางครั้งนักเขียนอาจจะไม่ได้มีรายได้หลักจากหนังสือแต่เป็นการเป็นผู้บรรยายเรื่องต่างๆ ที่เขียนในหนังสือ เช่น เขียนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารก็จะมีผู้เชิญไปบรรยายในการเรียนบริหารธุรกิจ หลายคนจึงมักเขียนเป็นงานอดิเรก
สิ่งที่นักเขียนมือใหม่ควรระวัง คือ ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง อย่าดูถูกตัวเอง อย่าไปคิดเรื่องรูปแบบหรือหลักการเขียนให้มาก เน้นการใช้แนวคิด ปล่อยให้ความคิดไหลออกมาแล้วเขียนออกมาอย่างที่ต้องการ

การเขียน คือ การสื่อสารความรู้ ความคิด ทัศนคติและอารมณ์เป็นตัวอักษร จากผู้เขียนถึงผู้อ่าน อุปกรณ์ที่สำคัญของการเขียนคือ ภาษาที่งดงาม ประณีต สามารถสื่อได้ทั้งความรู้ ความคิด อารมณ์และความปรารถนา การเขียนมี 3 ประเภท คือ ตำราและบทความทางวิชาการ สารคดีบันเทิง เป็นความรู้ ความคิด และบันเทิงคดี นวนิยาย เรื่องสั้น เป็นจินตนาการ ความคิดและความเห็น
      สำนวนการเขียนที่ดี มีลักษณะดังนี้
ความชัดเจน เป็นลักษณะที่สำคัญที่สุด สิ่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจน ไม่ควรมีเนื้อหามากเกินไป ในหนึ่งย่อหน้าควรมีใจความเพียงใจความเดียว
ความกะทัดรัด ไม่ควรเขียนข้อความยืดยาวเกินจำเป็น เพราะผู้อ่านจะเบื่อและเสียเวลา
ความผันแปร ควรแปรงานเขียนของตนให้แตกต่างกันตามท้องเรื่องและอารมณ์ของเรื่อง
ความสุภาพ ระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ ไม่ควรเสียดสีผู้ใด
ความง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำยากเกินไปโดยไม่จำเป็น เขียนให้คล้ายภาษาพูดแต่ไม่ใช่เขียนให้เป็นภาษาพูด
ความคิดแปลกใหม่ เพราะจะน่าสนใจแต่ต้องรู้จักหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ภาพร่างเกี่ยวกับพื้นฐานของเรื่องโดยทั่วไปของการเขียนบันเทิงคดี
1.จะให้เกิดเรื่องขึ้นที่ไหน
2.จะเอาใครมาอยู่ในเนื้อเรื่องบ้าง
3.ตัวละครเหล่านั้นต้องการอะไร
4. อะไรที่จะมาเป็นความขัดแย้งหรือขัดความต้องการของตัวละคร
5.พวกเขามีแผนที่จะจัดการกับสิ่งนั้นอย่างไร
6.อะไรจะมาเป็นจุดหลัก เป็นเบ็ดเกี่ยว หรือเป็นคำถามที่จะให้คนอ่านสนใจ
7.เรื่องราวความหลังอะไรบ้างที่คุณจะแต่งเติมในเรื่อง
8.คุณต้องการให้มีเหตุการณ์อะไรบ้างเข้ามาอยู่ในเรื่องและจะสร้างมันขึ้นมาอย่างไร
9.ใช้รูปแบบอะไรในเนื้อเรื่อง 


         "ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะทำให้คุณสามารถก้าวเข้าสู่หนทางของนักเขียนได้ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักถึงอยู่เสมอคือ จงทำในสิ่งที่รัก จงรักในสิ่งที่ทำ สิ่งที่ได้หลังจากพยายาม มีคุณค่ายิ่งใหญ่เสมอ..."



อ้างอิง           
http://th.wikipedia.org/wiki/นักเขียน



 นางสาวสุนิติสาร์  สุขช่วย  เลขที่ 39 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น