หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วิถีชานานาชาติ



วิถีชานานาชาติ

นอกจากน้ำเปล่าที่ดื่มเพื่อกระหายแล้ว ใครหลายคนจะมีเครื่องดื่มถ้วยโปรดอย่างชาหรือกาแฟเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันหรือเพื่อรักษาสุขภาพในกระแสสังคม กาเฟอีนอาจเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่ยิ่งไปกว่านั้นความรู้สึกและปรัชญาสร้างสรรค์เครื่องดื่ม อาจเป็นเหตุผลลึกซึ้งที่หลายคนตกหลุมรักเครื่องดื่มเหล่านี้ ศิลปะการชงชาไม่ใช่เพียงกระบวนการ แต่มันคือเหตุผลของรสชาติที่จะเกิดขึ้น วัตถุดิบที่ดีของชา อุปกรณ์ที่เหมาะสม อุณหภูมิที่เหมาะสมและขั้นตอนที่ถูกต้อง นี่คือต้นทางก็การพบความสุขจากน้ำในแก้วใบเล็กๆ


ชา เป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้านของต้นชานำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูป  ชา ยังหมายรวมถึงเครื่องดื่มกลิ่นหอมที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่าง ๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน ชายังจัดเป็นเครื่องดื่มอันดับสองของโลกที่มีผู้บริโภคมากที่สุด


       ชาแดนมังกร (ชาจีน)
          ย้อนไปถึงปี 2737ก่อนคริสตกาล ประมาณ 4700 ปีมาแล้ว ในรัชสมัยของจักรพรรดิเสิน วันหนึ่งจักรพรรดิเสินเสด็จล่าสัตว์ ขณะทรงพักผ่อนใต้ร่มไม้ และทรงต้มน้ำดื่มหน้ากองไฟ มีกระแสลมพัด พาเอาใบไม้หล่นลงในหม้อน้ำที่กำลังต้ม เมื่อจักรพรรดิทรงชิมน้ำที่ต้ม พบว่ามีรสชาติดีและมีกลิ่นหอมจากใบไม้ชนิดนั้นคือใบชา
          ชาประณีต เป็นการชงแบบดื่มเพื่อละเลียดรสน้ำชา มีพิธีรีตองเล็กน้อย เป็นการให้ความสำคัญกับ อุปกรณ์, ใบชา, น้ำชงชา และ สหายที่นั่งสนทนาในวงน้ำชา
ขั้นตอนการชงชาแบบประณีตมีดังนี้
1. ใช้ช้อนตักใบชาออกจากภาชนะบรรจุ
2. เทใบชาจากช้อนลงป้านชา
3. เทน้ำร้อนใส่ในป้าน (ขณะเทน้ำร้อนลงไป ควรยกให้สูง ให้น้ำร้อนกระแทกใบชา เพื่อให้ใบชาคลี่ตัวออก ตามหลัก "ชงสูง รินต่ำ" )
4. ใส่น้ำร้อนแล้ว รีบเทออกเลย น้ำแรกไม่นิยมดื่ม ถือว่าเป็นการล้างใบชา
5. บางคนอาจจะถือโอกาสใช้น้ำนี้ล้างจอกไปด้วยเลย
6. ใช้คีมคีบ เพื่อลวกจอกแต่ละใบ
7. ใช้น้ำที่ลวกใบชาครั้งแรก เทลวกป้านด้านนอกเพื่อรักษาอุณหภูมิ
8. เมื่อลวกจอก ครบทุกใบแล้ว รินน้ำชง ขณะชงควรยกให้สูง เพื่อที่น้ำร้อนจะได้กระแทกใบชาให้คลี่ตัว (ชงสูง รินต่ำ)
9. ปิดฝาและควรใช้น้ำร้อนเทราดป้านชาด้านนอกเพื่อรักษาอุณหภูมิ และทิ้งไว้ชั่วอึดใจ (ประมาณ 45 วินาที - 1 นาที)
** การเทน้ำร้อนราดป้านชา นอกจากเพื่อรักษาอุณหภูมิแล้ว ยังเป็นการจับเวลาด้วย คือ ถ้าน้ำร้อนที่ราดบนป้าน แห้งสนิทเมื่อใด ก็หมายถึง น้ำชาที่ชงนั้นได้ที่พร้อมรินเสิร์ฟแล้ว
10. เมื่อได้ที่แล้ว รินน้ำชาจากป้านโดยริน วน ทุกจอก ไม่ควรรินทีละจอก เพื่อให้น้ำชาทุกจอก รสชาติเหมือนกัน หากรินทีละจอก น้ำชาที่ได้จากจอกใบแรกอาจจะมีรสจืดสุด ส่วนน้ำชาจากจอกใบสุดท้าย ก็จะมีรสเข้มที่สุด และควรรินให้ต่ำ เพราะกลิ่นใบชาจะได้ไม่เจือจาง ไปกับอากาศ (ตามหลัก ชงสูง รินต่ำ)
11. เชิญเพื่อนร่วมวงดื่ม
12. หยิบดื่มกันตามอัธยาศัย  
13. การชงชารอบที่ 2 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องทำแบบขึ้นตอนเบื้องต้น เพราะว่าเพื่อนร่วมก๊วน บางท่านอาจจะยังดื่มชาไม่หมด ดังนั้นเมื่อชงชาได้ที่แล้วก็รินไว้ในเหยือกพักน้ำชา
14. ชาในเหยือกพักชาสามารถรินให้เป็นรายคนเพราะชา ในเหยือกพักชาจะมีรสชาติเท่ากัน
        ** การรินชาเสิร์ฟรอบที่ 3 แขกเป็นฝ่ายรินเอง เพราะมีภาษิตชาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "จอกแรกคือต้อนรับ จอกสองคือสนทนาพาที, จอกสามคือส่งผู้มาเยือน" นั่นก็คือ ถ้าเสิร์ฟชาจอกที่สามให้แขก ก็แสดงว่าเรากำลังจะไล่เขากลับบ้าน ส่วนรอบต่อจากนี้ เราสามารถรินเสิร์ฟแขกได้ตามปกติ
  
ชาโดะวิถีแห่งชาดินแดนพระอาทิตย์อุทัย (ชาญี่ปุ่น)
            ชาโดะ (Chado) หมายถึง วิถีแห่งชา หรือ The Way of Tea ความหมายนี้มีความลึกซึ้งยิ่งกว่าคำว่า 'พิธีชงชา' การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมของชาวจีน แต่ 'วิถีแห่งชา' เป็นแนวคิดที่ชาวญี่ปุ่นนำวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวจีนมาพัฒนาเป็นศิลปะชั้นสูงแขนงหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเชื่อมโยงกับปรัชญานิกาย เซน (การเข้ามาสมาธิเพื่อให้หลุดพ้นจากอัตตา)
          นับแต่อดีตจนถึงศตวรรษที่ 12 นิกายเซนในประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองมากก่อนถูกมองโกลรุกรานและทำให้นิกายเซนเสื่อมสลายไป ช่วงที่นิกายเซนรุ่งเรืองในจีนมีภิกษุรูปหนึ่งจากญี่ปุ่นนาม เอเซอิ (Eisai) เดินทางไปร่ำเรียนเกี่ยวกับนิกายเซน และนำปรัชญานิกายเซนกลับมาปฏิบัติที่ญี่ปุ่น และเป็นผู้ซึ่งทำให้นิกายเซนรุ่งเรืองในญี่ปุ่น กลายเป็นต้นแบบศิลปะแขนงต่างๆ ในวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
          นอกจากนำนิกายเซนกลับมา ภิกษุเอเซอิยังนำ เมล็ดชา กลับไปปลูกที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกด้วย รวมทั้งเป็นผู้แนะนำวิธีการเตรียม ผงชา และเขียนตำราชื่อว่า คิซซา โยโจกิ (KissaYojoki) มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ประเพณีการดื่มชา ซึ่งเริ่มจากพระสงฆ์ลัทธิเซนและเผยแพร่ไปยังชนชั้นขุนนาง นักรบซามุไร และพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย


วิถีแห่งชาเริ่มจากการใช้น้ำร้อนล้างถ้วยชา คลี่ผ้าออกเช็ดทำความสะอาดถ้วยชาให้แห้งรวมทั้งปากถ้วยชา พับผ้าเก็บอย่างมีระเบียบด้วยท่วงท่างดงามจากนั้นตักผงชาเขียว 2 ช้อน ใส่ลงในถ้วยชา
ใช้กระบวยตักน้ำร้อนใส่ลงไปในถ้วยเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคืนกลับไปในกาน้ำร้อนเดิม เปรียบเสมือนการคืนสู่ธรรมชาติ แล้วจึงใช้ที่คนชาซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ คนอย่างแรงจนเกิดเป็นฟองขึ้นมา (ฟองช่วยลดความขมของชาได้) หลังจากนั้นก็เลื่อนถ้วยชาให้กับแขกที่มาเยือน
ตามธรรมเนียม เมื่อแขกผู้มาเยือนได้รับถ้วยชา ก็จะโค้งเพื่อเป็นการขอบคุณ จากนั้นยกถ้วยชาขึ้นด้วยมือขวา แล้วนำมาวางลงบนฝ่ามือด้านซ้ายและยกขึ้นเล็กน้อย เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ หมุนถ้วยชาตามเข็มนาฬิกาสองรอบ เพื่อแสดงว่าคุณจะไม่ดื่มชาทางด้านหน้าของถ้วยชา
หลังจากดื่มชาเสร็จ แขกผู้มาเยือนใช้นิ้วเช็ดขอบถ้วยชาที่มีรอยเปื้อนของชาออกให้หมด แล้วก็เช็ดนิ้วมือลงบนกระดาษที่รองขนม หมุนถ้วยชาทวนเข็มนาฬิกา เพื่อให้ด้านหน้าของถ้วยหันเข้าหาตัว วางถ้วยชาด้วยมือขวาลงบนพื้น และชื่นชมความงามของถ้วยชา แล้วจึงจะยกถ้วยชาวางบนมือซ้ายและหมุนถ้วยชาตามเข็มนาฬิกาสองครั้ง แล้วคืนถ้วยชากลับไปให้เจ้าของบ้าน
ระหว่างการปฏิบัติวิถีแห่งชา บรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบนิ่ง อากัปกิริยาเป็นไปตามขั้นตอนที่เนิบช้าไม่ร้อนรน ดูมีสมาธิ สนทนากันด้วยเสียงแผ่วเบาด้วยหัวข้อสนทนาที่ไม่นินทาว่าร้ายใคร พูดคุยแต่เรื่องดีๆ มีศีลธรรม
วิถีแห่งชานี้เป็นไปตามหลักใหญ่ๆ ของการสร้างสุนทรีย์แห่งชาโดะของ เซน ริคิว ที่ให้คำนึงถึงคำ 4 คำดังนี้คือ
Wa (วา) ความกลมกลืน หรือ harmony ระหว่างเจ้าของบ้านกับแขกผู้มาเยือน กลมกลืนกันอย่างเป็นธรรมชาติ
Kei (เค) ความเคารพ หรือ respect หมายถึงการให้เกียรติกันระหว่างเจ้าบ้าน แขกผู้มาเยือน ไปจนถึงเครื่องใช้ไม้สอยที่ใช้ในการชงชา (ความสวยงามและความสะอาด)
Sei (เซ) ความบริสุทธิ์ หรือ purity หมายถึงการทำจิตใจให้บริสุทธิ์
Jaku (จาคุ) ความสงบ หรือ tranquility ความสงบในจิตใจ


วิถีชาเมืองผู้ดี (ชาอังกฤษ)
             ในปี ค.ศ.1662 วัฒนธรรมการ "ดื่มชา" ในสังคมอังกฤษถือกำเนิดขึ้นโดย แคทเธอรีน แห่ง บรากันชา ราชินีคู่บังลังก์ชาวโปรตุเกสของพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ซึ่งในครั้งนั้นยังคงเป็นเพียงการเชิญพระสหายของพระองค์ให้ร่วมดื่มชาและสังสรรค์กันเป็นการส่วนพระองค์ที่รอยัลคอร์ท แม้จะทำให้วัฒนธรรมของดื่มชาขยายความนิยมในสังคมเมืองผู้ดีอย่างรวดเร็ว ทว่าก็ถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้มีฐานะเท่านั้น นั่นเพราะ "ใบชา" ซึ่งนำเข้าไปจำหน่ายในอังกฤษ จะถูกเก็บภาษีสูงลิ่วถึง 119 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้มีราคาแพงระยับ...กระทั่งเกิดเป็นคำพูดตลกร้ายขึ้นในยุคสมัยนั้นว่า "ผู้ดีกินชา ขี้ข้ากินกาแฟ"
          วิธีชงชาอังกฤษ
เคล็ดลับสำคัญในการชงชาอังกฤษให้ได้กลิ่นและรสชาติที่ละเมียดละไมนั้น ต้องเริ่มจากกาน้ำชา และถ้วยชา ซึ่งถือเป็นหัวใจของการดื่มชาเลยทีเดียว จะให้ดีควรเป็น พอร์ซเลนเนื้อบาง เพราะจะเก็บความร้อนได้ดี ถ้าเป็นชาผง ควรอุ่นกาน้ำชาให้ร้อนได้ที่ด้วยน้ำเดือดพอดีๆ ทิ้งไว้สักครู่ เทนม และน้ำตาลลงในถ้วยชา ใส่ผงชาลงในกา ตามด้วยน้ำ ทิ้งไว้ 3 - 5 นาที แล้วแต่ชนิดของชา วางที่กรองลงบนถ้วยชา ค่อยๆ รินชาลงใน ถ้วยที่กรองจะช่วยกรองเศษชาให้ค้างอยู่ด้านบน น้ำชาจะเข้าไปผสมผสานกับนมและน้ำตาล ให้รสชาติที่น่ารื่นรมย์
ส่วนชาชนิดซอง วิธีการชงก็แสนง่าย เพียงอุ่นกาน้ำชา และถ้วยชาให้ร้อนด้วยน้ำเดือด หย่อนถุงชาลงไป ทิ้งไว้สักครู่ เพื่อให้อวลกลิ่น และรสชาติชาอย่างเต็มที่ รินน้ำตาม เติมนม หรือครีม ตามใจชอบ
จะเห็นได้ว่าชาของแต่ละประเทศนั้นมีที่มา กระบวนการหรือวิธีการชงที่แตกต่างกันนั้น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ความเชื่อ ค่านิยมและปรัชญาที่สอดแทรก ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องที่นั้นๆ อย่างไรก็ตามชาของแต่ละประเทศก็มีจุดเด่นและเสน่ห์ของตัวมันเอง แต่สิ่งที่ได้จากการดื่มชานั้นกลับมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความสงบ ที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่รีบร้อน ซึมซับรสชาติของชาผ่านถ้วยชาใบเล็กๆและศิลปะการชงที่มีเสน่ห์

อ้างอิง          



 นางสาวเบญจพร  สร้อยสิริสุนทร  เลขที่ 33 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น