หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หลับอย่างไรให้สนิท



หลับอย่างไรให้สนิท

                    การนอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สมองและร่างกายใช้ช่วงเวลาขณะหลับในการบำรุงซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อให้ร่างกายมีประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน ดังนั้นการนอนหลับที่เพียงพอจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดี มนุษย์ใช้เวลานอนหลับ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ความต้องการในการนอนหลับของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่ต้องการนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนนอนแค่วันละ 5-6ชั่วโมง โดยไม่มีอาการง่วงนอน ทุกคนมีโอกาสเกิดการนอนไม่หลับขึ้นได้ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต และร้อยละ 10 พบปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งอาจต้องใช้ยาเพื่อช่วยในการนอนหลับ โดยพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่ทำงานเป็นกะผลัดเวร เกิดปัญหานอนไม่หลับง่ายกว่างานอื่น


    เมื่อไรจึงเรียกว่านอนไม่หลับ
            การนอนไม่หลับไม่ใช่โรค แต่เป็นปัญหาการนอนไม่เพียงพอทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วไม่สดชื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงานและความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ แต่ละคนอาจมีความรู้สึกต่อการนอนไม่หลับได้หลายแบบ เช่น นอนหลับยากใช้เวลานานจึงจะหลับ นอนหลับไม่สนิท นอนหลับๆ ตื่นๆ นอนเร็วกว่าปกติ ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่นเหมือนไม่ได้หลับ บางคนอาจคิดหมกมุ่นอยู่กับอาการของตน
          ปัญหานอนไม่หลับมีหลายแบบตามระยะเวลา ได้แก่ แบบชั่วคราว แบบเป็น ๆ หาย ๆ และแบบเรื้อรัง


    สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ พบว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
            1.ปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น ภาวะตึงเครียดในชีวิต
            2.การเปลี่ยนแปลงในความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม เช่น แสงสว่างมากเกินไป เสียงดัง อุณหภูมิร้อนเกินไป การเปลี่ยนที่นอนและการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก การทำงานกะดึก
            3.ปัญหาการนอนที่มาจากโรคของการนอนหลับโดยตรง เช่น การเคลื่อนไหวแขนขาที่ผิดปกติขณะหลับ การขาดลมหายใจระหว่างการนอนหลับเป็นพัก ๆ
            4.ความผิดปกติทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยที่มีความไวกว่าธรรมดา เช่น ภาวะตื่นตัวสูงและตื่นเต้นง่าย
            5.โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคในกลุ่มกังวล โรคจิต
            6.อาการเจ็บป่วยหรือความไม่สบายทางร่างกาย เช่น สมองเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมน อาการปวดการไอเรื้อรัง การหายใจลำบาก การตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ 
            7.การใช้ยาหรือสารบางชนิด

             อาการนอนไม่หลับมีโอกาสเกิดใหม่อีกได้ การรักษาจึงจำเป็นต้องรักษาสาเหตุ การปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนที่ถูกต้อง และการขจัดพฤติกรรมที่รบกวนการนอนร่วมกับฝึกให้มีพฤติกรรมที่รบกวนการนอนร่วมกับฝึกให้มีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการนอนหลับที่ดี ควรปฏิบัติต่อเนื่องอย่างน้อย 6-10 สัปดาห์ พบว่าช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นและนอนหลับที่เป็นธรรมชาติได้.

 อ้างอิง              



           นางสาวสิตานัน  คงทอง  เลขที่ 16

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น